ปตท.สผ. ช่วยชุมชนก่อนเดินเครื่องธุรกิจขุดเจาะก๊าซธรรมชาติ



ปตท.สผ.คุ้นเคยกับคนอุดรฯ มากขึ้นเรื่อยๆ หลังปี 2557 ที่ได้ซื้อหุ้นในส่วนของ บริษัทเฮล์ส(ประเทศไทย) ทั้งหมด เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2557 และเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ทีพีพีอีพี เอสจำกัด หรือ PTTEP SP Limited (PTTEP SP) มีผลตั้งแต่วันที่ 13 มิถุนายน 2557 โดยได้เข้าบริหารจัดการสัมปทาน แหล่งก๊าซธรรมชาติสินภูฮ่อม อ.หนองแสง จ.อุดรธานี  และเมื่อปีที่แล้วปตท.สผ. ได้ส่งรายงานแผนขุดเจาะหลุมผลิตเพิ่มในแปลงสัมปทานแหล่งสินภูฮ่อม จังหวัดอุดรธานี-ขอนแก่น ที่ระบุว่าในปีนี้จะเจาะหลุมผลิตเพิ่มรวม 3 หลุม เพื่อรักษาระดับการผลิตก๊าซธรรมชาติไว้ที่ 120 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน

ดังนั้น ปตท.สผ.จึงเข้าไปทำงานกับชุมชนในพื้นที่อย่างใกล้ชิด หลังจากเห็นปัญหาตั้งแต่ปี 2555 หมู่บ้านทับไฮ  อำเภอหนองแสง จังหวัดอุดรธานี ซึ่งตั้งอยู่บริเวณโครงการสินภูฮ่อมของ ปตท.สผ. ประสบปัญหามลภาวะจากการลี้ยงสัตว์ มูลสัตว์โดยเฉพาะสุกร  ซึ่งเป็นสัตว์เศรษฐกิจของชุมชน  ก่อปัญหามลภาวะทางกลิ่น และเป็นแหล่งเพาะพันธุ์และแพร่พันธ์ของเชื้อโรคและแมลงวัน ปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ  จึงเป็นภาระของฟาร์มหรือผู้ประกอบการในชุมชนที่จะต้องมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น  เพื่อดูแลและจัดการปัญหาเหล่านี้ ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อปัญหาสุขภาพของคนในชุมชน




กิตติศักดิ์  หิรัญญะประทีป ผู้จัดการอาวุโส โครงการร่วมทุนบนฝั่ง (ประเทศไทย) ปตท.สผ. เล่าว่า  ปตท.สผ.เข้าไปร่วมกับชุมชนเพื่อช่วยแก้ปัญหา  โดยการสนับสนุนการจัดทำ "โครงการบ่อก๊าซชีวภาพ" (Bio-Gas) ส่งเสริมให้ชาวบ้านคัดแยกขยะในครัวเรือน จัดทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร และกำจัดสิ่งปฏิกูลจากฟาร์มสัตว์ ด้วยการจัดทำบ่อก๊าซชีวภาพ ซึ่งนำมาสู่การจัดการด้านพลังงานทดแทนในชุมชน ช่วยลดปัญหาขยะ ประหยัดค่าใช้จ่ายในการใช้เชื้อเพลิงสำหรับชุมชนและโรงเรียนในหมู่บ้าน
นับเป็นการน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและพึ่งพาตนเองมาปรับใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรมและได้ความร่วมมือจากชาวบ้านเป็นอย่างดี   จนสามารถพลิกฟื้นวิกฤติปัญหาขยะในชุมชนให้กลายเป็นโอกาสได้ ปัจจุบันมีชุมชน 112 ครัวเรือนเข้าร่วมในโครงการผลิตก๊าซชีวภาพ

บ่อก๊าซชีวภาพดังกล่าว มีขนาดบ่อกว้างประมาณ 1.7 เมตร ยาว 4 เมตร และขุดลึกจากพื้นดินส่วนหัวบ่อประมาณ 0.8 เมตร ลาดเทไปยังส่วนท้ายบ่อลึก 1 เมตร  สามารถผลิตก๊าซชีวภาพที่ใช้งานได้ทั้งกับฟาร์มขนาดใหญ่และขนาดย่อม ไปจนถึงโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ขนาดเล็กของชาวบ้านในชุมชน โดยประยุกต์ใช้วัสดุที่หาได้ในท้องถิ่นมาเป็นอุปกรณ์ สำหรับกักเก็บมูลสัตว์และหาจุดขุดหลุมสำหรับบ่อก๊าซ  จากนั้นทำถุงหมักก๊าซชีวภาพจากพีวีซีที่มีราคาไม่แพง ขนาด 7 ลูกบาศก์เมตรต่อหลุม  จากนั้นนำมูลสัตว์และขยะที่แยกไว้มาหมักจนได้ก๊าซมีเทนที่นำไปเป็นเชื้อเพลิงได้   เฉลี่ยวันละประมาณ 2-3 ลูกบาศก์เมตรต่อหลุม สามารถใช้ทดแทนก๊าซแอลพีจี (LPG) ได้ประมาณเดือนละ 1 ถัง ช่วยชาวบ้านประหยัดเงินค่าก๊าซได้ประมาณ 300-400 บาท ต่อครัวเรือน  
อีกทั้งเศษมูลสัตว์ที่เหลือจากบ่อก๊าซชีวภาพยังสามารถนำมาใช้ทำปุ๋ยอินทรีย์  ช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการใช้ปุ๋ยเคมีไปได้อีกประมาณเดือนละ  300 บาทอีกด้วย

ฉัตรชัย เหลาเกลี้ยงดี ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านทับไฮ กล่าวว่า โรงเรียนได้จัดทำบ่อก๊าซชีวภาพมา  3 ปี แล้ว ปัจจุบันมีบ่อก๊าซชีวภาพจำนวน  2 บ่อ ที่ผลิตก๊าซมีเทนจากเศษอาหารและหญ้าเนเปียร์สับ  เทลงทางปากบ่อหมักก๊าซรูปร่างคล้ายแคปซูลขนาดใหญ่สีดำตามสีของผ้ายางที่ทำจากพีวีซี   ซึ่งได้รับการสนับสนุนวัสดุ อุปกรณ์ รวมทั้งงบประมาณจาก ปตท.สผ. ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของก๊าซหุงต้มลงได้อย่างเห็นชัด  หากเทียบกับการซื้อก๊าซหุงต้มเดือนละถัง  ใน 3 ปี โรงเรียนสามารถประหยัดงบประมาณการซื้อก๊าซหุ้งต้ม มูลค่ามากกว่า 14,000  บาท


“ปัจจุบันโรงเรียนปลูกหญ้าเนเปียร์บนพื้นที่ประมาณ 1 งานกว่าเพื่อนำมาสับละเอียดใช้เติมลงบ่อก๊าซชีวภาพ เพิ่มเติมจากเศษอาหารและบางครั้ง ก็ให้นักเรียนตัดหญ้าเนเปียร์ไปแลกมูลวัว มูลควาย มูลไก่ มูลหมู ของเสียจากสัตว์นานาชนิดในหมู่บ้านมาเป็นวัตถุดิบสำหรับเติมลงบ่อหมักเพื่อให้ได้ก๊าซที่เพียงพอต่อการใช้ประกอบอาหารสำหรับนักเรียน ในอนาคตโรงเรียนบ้านทับไฮอาจมีโครงการจัดหาวัวมาเลี้ยง โดยให้หญ้าเนเปียร์เป็นอาหาร และนำมูลวัวมาเติมบ่อก๊าซชีวภาพอย่างจริงจัง"

ละม่อม สิทธิศาสตร์ ผู้ใหญ่บ้านบ้านทับไฮ ตำบลแสงสว่าง อำเภอหนองแสง จังหวัดอุดรธานี เล่าว่า โครงการกำจัดมูลสัตว์นำมาผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อใช้เป็นพลังงานทดแทน นอกจากจะช่วยแก้ปัญหากลิ่นเหม็นของมูลหมูและขยะจากเศษอาหารได้แล้ว ยังได้เชื้อเพลิงมาใช้เพื่อประกอบอาหารสำหรับสมาชิกในครอบครัว ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้มาก การติดตั้งและการบำรุงรักษาบ่อก๊าซชีวภาพก็สามารถทำได้ง่าย ไม่ต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซม  เมื่อเราเริ่มทำแล้วได้ผลและเกิดประโยชน์จริง   ทำให้คนในชุมชนเกิดความรู้สึกอยากมีส่วนร่วม ตอนนี้หมู่บ้านทับไฮหลายครัวเรือนมีบ่อก๊าซเป็นของตัวเองแล้ว   และคาดว่าจะมีชาวบ้านทำบ่อก๊าซเพิ่มมากขึ้นอีก


 

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Soneva Kiri เกาะกูด สวรรค์บนดิน เป็นมิตร & รักษาสิ่งแวดล้อม : ปาณี ชีวาภาคย์

MBK พาจิตอาสาปทุมวันบุกชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ เรียนรู้ "ขยะคือทองคำ”

Sustainability Marketing มาตรฐานใหม่ในโลกธุรกิจ : ฐิติภา ลักษณพิสุทธิ์