dtac ชวน “พลิกไทย” พัฒนาสังคมด้วยแนวคิด Civic Crowdsourcing




เครือข่ายผู้ใช้งานดีแทค 23 ล้านราย  สามารถเปลี่ยนมาเป็นเครือข่าย เพื่อประโยชน์ทางสังคมในเบื้องต้น และเป็นที่มาของการมาร่วมมือกัน 3 ส่วน คือ ดีแทค มูลนิธิกองทุนไทย และ meefund.com เชื่อมโยง Active Citizen เข้าสู่แพลตฟอร์มในการสร้างความร่วมมือของภาคพลเมืองที่มีความต้องการ ความคิด หรือโครงการที่จะแก้ปัญหาในชุมชนของตน เข้ากับการระดมทุนและพลังอาสาสมัครที่มีหลากหลายทักษะและความเชี่ยวชาญ โครงการ “พลิกไทย” ของดีแทค เกิดจากการทำงานร่วมกันกับมูลนิธิกองทุนไทยและ meefund.com เว็บไซต์ระดมทุนออนไลน์เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน


อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค  กรรชิต สุขใจมิตร ผู้อำนวยการมูลนิธิกองทุนไทย และณัฐวุฒิ เผ่าปรีชา ผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์มระดมทุน รายแรกในประเทศไทย ร่วมกันเล่าถึงแนวคิด ความร่วมมือโครงการ “พลิกไทย” ตามแนวคิด Civic Crowdsourcing ช่วยตอกย้ำบทบาทของพลเมือง ซึ่งเป็นหน่วยเล็กที่สุดแต่ทรงพลังมากที่สุด ที่จะเข้ามามีส่วนร่วมต่อการพัฒนาประเทศ สังคม และชุมชน (Participatory Citizenship) เพราะคนที่อยู่กับปัญหา จะเข้าใจปัญหานั้นๆ มากที่สุด เพียงแต่ต้องคิด “พลิก” ปัญหานั้นให้กลายเป็นทางออกเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน  ซึ่งได้เกิดขึ้นแล้วในสหรัฐอเมริกา อังกฤษและประเทศแถบยุโรป โดย Active Citizen หรือคนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและจิตอาสาในประเทศไทยที่มีจำนวนมากขึ้น

“ดีแทคและคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคส่วนต่างๆ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านการพัฒนาสังคม และส่งเสริมการเรียนรู้อย่างยั่งยืน จะทำการคัดเลือกแนวคิดกิจกรรมจำนวน 10 แนวคิด ที่สามารถปฏิบัติได้จริง และสามารถสร้างประโยชน์แก่สมาชิกส่วนใหญ่ในชุมชน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาวในเชิงเศรษฐกิจ สังคม หรือสิ่งแวดล้อม โดยดีแทคจะมอบเงินทุนสนับสนุนเบื้องต้น เพื่อให้โครงการสามารถดำเนินการได้ จากนั้น ดีแทคจะช่วยเหลือ ประสานงาน และเป็นสื่อกลางในการระดมทุนสนับสนุนให้แก่โครงการ  รวมไปถึงการเป็นสื่อกลางในการหาอาสาสมัครที่ต้องการมีส่วนร่วมกับโครงการ เพื่อให้โครงการสามารถดำเนินการและพัฒนาได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนในอนาคต...”




ข้อมูลมูลนิธิกองทุนไทย กล่าวถึงงานด้านการพัฒนาของไทยยังขาดปัจจัยสำคัญ 4 ประการ ที่จะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ได้แก่

1.        ทิศทาง คนไทยมีความตื่นตัวต่อบทบาทของความเป็นพลเมือง ต้องการมีส่วนร่วม แต่ไม่สามารถบ่งชี้และวิเคราะห์ปัญหาได้ชัดเจน อะไรคือรากเหง้าของปัญหาที่กระทบต่อสังคมและคนจำนวนมาก
2.        ทักษะ คนไทยยังขาดทักษะการหาแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างเหมาะสมและศักยภาพในการทำดำเนินโครงการให้บรรลุเป้าหมาย ตลอดจนปัญหาด้านทีมงานและเครือข่ายที่มีศักยภาพ
3.        ทุน โดยภาพรวมสังคมไทยยังขาดการกลไกและงบประมาณที่จะไปสนับสนุนนักพัฒนาและองค์กรในท้องถิ่น ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินโครงการ
4.        เครือข่าย การดำเนินโครงการเพียงลำพังอาจทำให้บรรลุเป้าหมายยากขึ้น ดังนั้น การมีเครือข่ายในการสนับสนุนโครงการทั้งทางกายภาพและเงินทุน จะทำให้เป้าหมายสำเร็จได้เร็วขึ้น

ทว่า ในยุคที่อินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทต่อการเปลี่ยนแปลงสังคมในระดับจุลภาคและมหภาค พื้นที่ออนไลน์อย่างเว็บไซต์ Crowdfunding เอสเอ็มเอสและอื่นๆ จะช่วยทำให้คนในสังคมตระหนักถึงปัญหาและช่วยกันแก้ไขได้อย่างถูกต้อง

ทั้งนี้ การระดมทุนเพื่อประโยชน์สาธารณะหรือไม่แสวงหากำไรมีแนวโน้มเติบโตขึ้น สะท้อนได้จาก meefund.com ดำเนินการมา 2 ปี มีโครงการเข้ามาระดมทุนทั้งสิ้น 26 โครงการ โดยเป็นโครงการเพื่อประโยชน์สาธารณะหรือไม่แสวงหากำไรถึง 9 โครงการ หรือคิดเป็น 20%  ของโครงการทั้งหมด ซึ่งประสบความสำเร็จ สามารถระดุมทุนได้ตามเป้าหมายทุกโครงการ สะท้อนถึงการเปลี่ยนผ่านการพัฒนาสังคม ซึ่งนำโดยพลเมืองและถือพลเมืองเป็นศูนย์กลาง

ว่ากันว่า ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นแนวโน้มสำคัญที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลก การปฏิวัติสังคมให้ดีขึ้นในยุคโพสต์โมเดิร์นอยู่ในมือของพลเมือง โดยอาศัยเทคโนโลยีการสื่อสารในการเชื่อมพลเมืองเข้าด้วยกัน

สำหรับ ผู้ที่สนใจในการร่วมเป็นนักพลิกไทย สามารถสมัคร โดยกรอกข้อมูลทางเว็บไซต์ดีแทค www.dtac.co.th/PlikThai ตั้งแต่วันนี้ถึงวันที่ 30 กันยายนนี้



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Soneva Kiri เกาะกูด สวรรค์บนดิน เป็นมิตร & รักษาสิ่งแวดล้อม : ปาณี ชีวาภาคย์

MBK พาจิตอาสาปทุมวันบุกชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ เรียนรู้ "ขยะคือทองคำ”

Sustainability Marketing มาตรฐานใหม่ในโลกธุรกิจ : ฐิติภา ลักษณพิสุทธิ์