One Day Durian Trip อิ่มอร่อยในวิถีชุมชนยั่งยืน @ ศรีสะเกษ : ปาณี ชีวาภาคย์




เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว  ดิฉันไปเที่ยวกับเพื่อน ๆ ตั้งใจเลยว่าจะไปชิมทุเรียนภูเขาไฟของดีจังหวัดศรีสะเกษสักหน่อย   เมื่อไปเหยียบถิ่นดอกลำดวนถึงได้แปลกใจ  นึกว่ามาผิดที่หรือเปล่า  เพราะมีแต่ผลไม้  เช่น เงาะ มังคุด กระท้อน ลำไย ลองกอง ลิ้นจี่ และทุเรียนเต็มตลาด  บรรยากาศเหมือนอยู่จันทบุรีเลย


โดยเฉพาะทุเรียนที่มีจุดขายว่าอร่อยกว่าที่อื่น ๆ เพราะปลูกด้วยดินภูเขาไฟ  ทำเอานักเปิบทุเรียนทั่วทั้งประเทศตื่นเต้นกันยกใหญ่ จัดทัวร์กินทุเรียนมุ่งสู่ศรีสะเกษกันอย่างคึกคัก  โดยเฉพาะเสาร์-อาทิตย์ แน่นทุกสวน  เพื่อลองลิ้มชิมรสชาติแปลกใหม่ของทุกเรียนจังหวัดนี้

เรียกรอยยิ้มจากชาวสวนทุเรียนศรีสะเกษกันถ้วนหน้า  เพราะปีนี้ผลผลิตดี ราคาดี ส่งผลให้รายได้ดีตามไปด้วย


ทุเรียนศรีสะเกษเพิ่งมาดังได้ 2-3 ปีมานี้   ดิฉันคิดว่าน่าจะดังหลังทุเรียนหลงลับแลจากอุตรดิตถ์เสียอีก  จึงทำให้แปลกใจเหมือนหลาย ๆ คนว่าภาคอีสานก็ปลูกทุเรียนได้เหรอ

ความจริงเส้นทางทุเรียนเดินทางจากสวนเมืองนนทบุรี ข้ามไปภาคตะวันออกอย่างระยอง จันทบุรี ปราจีนบุรี  ส่วนที่ศรีสะเกษนั้น ทศพล สุวะจันทร์ ประธานชมรมผลไม้และเป็นเจ้าของสวนทศพลบอกว่า นำพันธุ์ทุเรียนจากจันทบุรีมาปลูกที่สวนของเขาเมื่อปี 2531 หรือประมาณ เกือบ 30 ปีมาแล้ว และเริ่มเปิดสวนขายทุเรียนครั้งแรกเมื่อปี 2541




“ ตอนนั้นชาวสวนศรีสะเกษยังปลูกข้าวโพด มันสำปะหลัง ราคาก็ไม่ค่อยดี  มีอยู่วันหนึ่งผมไปดูข่าวในโทรทัศน์บอกว่าชาวสวนจันทบุรีปลูกทุเรียนมีรายได้ปีละ2-3 แสน  ก็เลยตัดสินใจลองปลูกบ้าง”

ทศพลเดินทางไปศึกษาดูงานตามสวนที่จันทบุรีรวมถึงจังหวัดชุมพรด้วย   ในที่สุดเขาก็นำต้นทุเรียนหมอนทองจากจันทบุรีมาลองปลูกอยู่ 3-4 ไร่ ปัจจุบันสวนทศพลปลูกทุเรียนเต็มพื้นที่  28 ไร่และได้รับเลือกให้เป็นแปลงต้นแบบทุเรียน จากสำนักงานเกษตรอำเภอกันทรลักษณ์



ในช่วงฤดูกาลทุเรียนนั้น จะมีลูกค้าจัดทัวร์มาชิมผลไม้ในสวนทศพลทุกวัน โดยเขาคิดเป็นราคาต่อหัว มีอาหารกลางวัน และทุเรียนแถมให้ชิม  ส่วนใครจะซื้อกินหรือซื้อฝากก็สั่งได้ในราคาหน้าสวนกิโลกรัมละ100 บาท

น่าแปลกมาก เพราะศรีสะเกษ สามารถปลูกทุเรียนได้แค่ 3 อำเภอเท่านั้นคือ กันทรลักษณ์ ขุนหาญและศรีรัตนะ ซึ่งทั้ง 3 อำเภอนี้อยู่ในเขต “ภูดินแดง” คือดินร่วนปนทราย  ซึ่งเป็นแนวภูเขาไฟเก่ามีพื้นที่กว้างขวาง อยู่ลึกเข้ามาจากแนวเทือกเขาพนมดง  แต่เดิมปลูกได้แค่ ข้าวโพด มันสำปะหลัง และกระเทียม  แต่เมื่อนำต้นทุเรียนจากจันทบุรีมาปลูกในพื้นที่ดินภูเขาไฟ  รสชาติทุเรียนที่ได้จึงแตกต่างจากจันทบุรีซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดเดิม   คือเนื้อแห้งแน่นหนา  กรอบนอกนุ่มใน รสหวานมันมากกว่าปกติ แต่กลิ่นไม่แรง จึงเป็นที่ถูกใจของเหล่าทุเรียนเลิฟเวอร์เป็นอันมาก

ดังนั้น ใครจะไปเที่ยวชิมผลไม้ที่ศรีสะเกษ  ขอแนะนำให้ไป 3 อำเภอนี้เท่านั้น  อย่าหลงไปอำเภออื่นเด็ดขาดจะเสียเวลาในการชิมผลไม้  ถ้าไม่รู้จักหรือไม่มีใครแนะนำก็ขับรถบุกไปตามสวนเลย  เพราะทุกสวนเปิดรับนักท่องเที่ยวที่มาชิมด้วยอัธยาศัยดีใบหน้ายิ้มแย้ม

One Day Trip  ชิมทุเรียนของดิฉันนั้น พอดีได้เพื่อนที่อยู่ศรีสะเกษ คือ คุณนงค์ลักษ์ รัตนพันธุ์ เป็นธุระนัดแนะสวนทุเรียนที่รู้จักให้แล้วจึงง่ายขึ้นหน่อย   ทริปเราออกจากโรงแรมตั้งแต่เช้า   เริ่มที่อำเภอกันทรลักษณ์ก่อน ขับรถซอกแซกไปตามสวนจะเห็นเหล่านักชิมขับรถส่วนตัวบ้าง รถตู้บ้าง หรือถ้าเป็นคณะใหญ่ก็เหมารถบัสกันมาเลย ขนาดดิฉันไปวันธรรมดายังเห็นนักชิมเยอะพอสมควร  แต่ถ้าเป็นเสาร์-อาทิตย์ จะแน่นแทบทุกสวนค่ะ

เราแวะสวนแรก ชื่อสวนทุเรียนแม่สำเนียง บ้านชำตารมย์ ( โทร 096-103-5450) หลานสาวเจ้าของสวนมานั่งขายทุเรียนอยู่หน้าสวนด้วยรอยยิ้มสดใส  เธอเล่าให้ฟังว่าสวนของเธอเพิ่งมาปลูกทุเรียนเมื่อไม่นานมานี้  โดยมีซีพีมาคอยแนะนำในการดูแลตั้งแต่การปลูก การให้ปุ๋ย การดูแลจนถึงเก็บผล  และรับซื้อด้วย        



ถ้าเรานัดเจ้าของสวนว่าจะไป  เขาจะคัดทุเรียนเก็บไว้ให้ก่อน แต่ถ้าไม่นัดอาจจะต้องไปเสี่ยงโชค เพราะบางสวนอาจจะเหลือทุเรียนตกเกรดคือลูกเล็กหรือไม่สวยมาขายก็ได้  แต่อย่างไรก็ตามทุกสวนจะขายราคาหน้าสวนเท่ากันหมดคือกิโลละ100 บาท

สำหรับสวนแม่สำเนียงนั้น เป็นทุเรียนหมอนทองคัดลูกใหญ่  ประเดิมอุ่นเครื่องกันก่อน พวกเราเลือกทุเรียนลูกขนาด 3 โลกว่าได้พูใหญ่เต็มไม้เต็มมือดี  แกะออกมาปรากฏว่าความสุกกำลังกินมาก กัดไปคำแรกรสหวานมันแซงหน้าขึ้นมาก่อนเลย  สังเกตว่าทุเรียนของศรีสะเกษจะมีรสมันแบบที่เรียกว่า “ครีมมี่” มากกว่าทุกจังหวัด  แต่กลิ่นกลับไม่รุนแรง  ( อาจจะเป็นข้อดีตรงที่หลังกินแล้วเรอจะไม่มีกลิ่นแรงรบกวนคนข้างเคียง)



ตื่นเต้นกับรสชาติทุเรียนศรีสะเกษที่ทุกคนบอกว่า “ผ่าน”  เราก็เลยเลือกหมอนทองอีกลูกเพื่อหิ้วกลับไปกินกัน  โดยให้แม่ค้าเลือกให้สุกทันกินพรุ่งนี้ตอนเย็น

จากนั้น ก็ขับรถแวะไปสวนทศพลในพื้นที่ ต.ตระกาจ ซึ่งเป็นสวนทุเรียนขนาดใหญ่ชื่อดังระดับอำเภอ จึงมีลูกค้าเหมารถทัวร์แวะมาหลายคน ดูคึกคักวุ่นวายพอสมควร  รอบนี้พวกเราไม่ค่อยมีโชคเพราะเขาเก็บทุเรียนคัดไว้ให้ลูกค้าทัวร์หมดแล้ว  จึงเหลือหมอนทองตกเกรดอยู่ 2 เข่งให้พวกเราเลือกชิม  ซึ่งรสชาติก็หวานอร่อยดี  นอกจากนี้ยังมีทุเรียนกวนโลละ 600 บาท กับทะเรียนทอดกรอบโละ1,200 บาท ให้ลูกค้าซื้อติดมือเป็นของฝาก



ตระเวนชิมไป 2 สวน เวลาก็เกือบจะบ่ายสองแล้ว  เลยแวะทานข้าวกลางวันก่อนที่จะมุ่งหน้าที่ยังอำเภอขุนด่าน  ใครที่มาเส้นทางนี้ขอแนะนำให้แวะร้าน “ครัว...บ้านลี”  ( อยู่ใกล้โลตัส ตรงข้ามโชว์รูมอีซูซุ  โทร.098-9562497) ที่แนะนำร้านนี้เพราะหลายวันที่มาพักศรีสะเกษ  ดิฉันยังหาร้านอาหารอร่อย สะอาด ถูกใจไม่ได้เลย



นั่งปุ๊บเจ้าของร้านคนสวย คุณทิพวัลย์ ลีธีระประเสริฐ ก็เสิร์ฟอาหารเรียกน้ำย่อยแบบเวียดนามคือ ข้าวเกรียบปากหม้อญวนร้อนกรุ่นรสชาติหอมอร่อย  กับสลัดผักสดใส่มาในข้าวเกรียบงาแผ่นใหญ่สวยงามและอร่อยถูกปากมาก อาหารที่นี่มีหลากหลาย  ทั้งอาหารไทย เวียดนาม และฝรั่ง  ราคาเริ่มต้นที่ 50 บาท ร้านตกแต่งสวยงาม ฝีมือน่าจะถูกปากคนกรุงเทพฯ  เพราะคุณทิพวัลย์เป็นเจ้าของร้านอาหารตะกร้าแดง  ที่ตลาดมองบาเช่ด้วยค่ะ

อิ่มอร่อยกับมื้อเที่ยงอย่างอิ่มเอม  ทัวร์ทุเรียนก็มุ่งหน้าสู่อำเภอขุนหาญซึ่งใช้เวลาพอสมควร จุดหมายปลายทางคือสวนพ่อวรรณา  บ้านซำขี้เหล็ก ( โทร.081-7906564 ) เป็นสวนขนาดใหญ่ ซึ่งมีทั้งทุเรียนหมอนทอง ชะนี ก้านยาว พวงมณี นอกจากนี้ยังมีเงาะ มังคุด กระท้อน ชมพูมะเหมี่ยว  โดยมีคุณวรรณ ลูกสะใภ้เจ้าของสวนมาคอยต้อนรับ  และพาพวกเราเดินชมสวน



สวนพ่อวรรณา เริ่มปลูกทุเรียนมาเมื่อ 40 ปีก่อน โดยนำพันธุ์มาจากจันทบุรี คุณวรรณบอกว่าทุเรียนศรีสะเกษเพิ่งมาเป็นที่นิยมเมื่อ 2 – 3 ปีนี้เอง โดยทางจังหวัดกับททท.โปรโมทว่าเป็นทุเรียนดินภูเขาไฟ  จึงมีคนนอกพื้นที่แห่มาเที่ยวชิมตามสวนกัน แต่ปกติแล้วบริษัทซีพีจะมาเหมาตามสวนเพื่อส่งออกไปประเทศจีน

 ขณะนี้หลาย ๆ สวนที่เคยปลูกต้นยางเมื่อสิบกว่าปีก่อนตอนยางได้ราคา  พอตอนนี้ราคายางตกก็เริ่มตัดต้นยางเพื่อใช้พื้นที่มาปลูกทุเรียนกันหมด  ดิฉันถามคุณวรรณว่าไม่กลัวทุเรียนล้นตลาดเหรอ  เธอบอกว่าทุกวันนี้ไม่พอขายเพราะคนจีน ฮ่องกง สิงคโปร์มาเหมาไปหมด  โดยปีนี้ผลผลิตทุเรียนของศรีสะเกษอยู่ที่ 80,000 ตัน และจะเริ่มออกสู่ตลาดเดือนมิถุนายนเป็นต้นไป


 คุณวรรณพาพวกเราชมสวนซึ่งกว้างมาก  ทุเรียนทุกต้นกำลังออกผลห้อยลงมาเต็มไปหมดทุกกิ่ง พอดีมีทุเรียนชะนีสุกคาต้น  เจ้าของสวนเลยปอกให้ชิมใต้ต้นได้บรรยากาศดีมาก  เนื้อสีเหลืองจัด รสหวาน ส่วนกลิ่นไม่แรงเหมือนชะนีทั่วไป

จากนั้นก็แวะไปเลือกทุเรียนในบ้านซึ่งตัดเก็บไว้เป็นเข่ง ๆ  มาสวนนี้ได้ความรู้เพิ่มเติมว่า  เดี๋ยวนี้ชาวสวนทุเรียนศรีสะเกษเปิดช่องทางขายด้วยโซเชียลมีเดีย และส่งทุเรียนตามออร์เดอร์ลูกค้าไปทั่วราชอาณาจักร แถมทุเรียนทุกลูกติดป้ายรับประกันคุณภาพโดยกลุ่มผู้ปลูกทุเรียนและสามารถตรวจสอบได้จากQR Code อีกด้วย ทันสมัยจริง ๆ

พวกเราจึงแห่กันซื้อทุเรียนคนละหลายลูกให้ไปส่งถึงบ้านในกรุงเทพฯ  ซึ่งสามารถเลือกว่าจะกินทุเรียนลูกไหนให้สุกวันไหน แล้วแพคใส่กล่องขนาดใหญ่ ส่งทางไปรษณีย์ไปถึงบ้านเลย  ไม่ต้องหอบหิ้วขึ้นเครื่องบิน ( ซึ่งไม่อนุญาตให้นำทุเรียนขึ้นเครื่องอยู่แล้ว) สนนราคาหน้าสวนกิโลละ 100 บาท ทุเรียนส่งถึงบ้านราคาพร้อมค่าส่งกิโลละ 120 บาท



คุณวรรณบอกว่า สวนนี้จะมีผลผลิตทุเรียนให้ชิมกันไปจนถึงเดือนสิงหาคม  ดังนั้นเหล่าทุเรียนเลิฟเวอร์ทั้งหลายค่อย ๆ ทยอยมาก็ได้นะคะ

จบ One Day Durian Trip อย่างอิ่มเอมเปรมปรีย์กันถ้วนหน้า


ศรีสะเกษ ซึ่งครั้งหนึ่งได้ฉายา “ทุ่งกุลาร้องไห้” เพราะความแห้งแล้งเป็นดินทรายไปหมด จนชาวบ้านไม่สามารถใช้พื้นที่ทำการเกษตรได้  แต่ปัจจุบันจังหวัดนี้มีแต่ความอุดมสมบูรณ์ โดยเฉพาะเขต 3 อำเภอคือกันทรลักษณ์ ขุนหาญและศรีรัตนะ กลายเป็นแหล่งปลูกเงาะทุเรียนเพื่อการส่งออกมากที่สุดในประเทศไทย






เมื่อถึงเดือนมิถุนายนของทุกปีหลาย ๆ หน่วยราชการของจังหวัดจะร่วมกันจัดเทศกาลเงาะ ทุเรียนและของดีศรีสะเกษ   เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตรและการท่องเที่ยวเชิงนิเวศของจังหวัด สิ่งเหล่านี้ช่วยสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้แก่คนศรีสะเกษให้มีงานทำ มีคุณภาพชีวิตที่และไม่ต้องอพยพเข้ามาในเมืองเพื่อหางานทำอีกต่อไป



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Soneva Kiri เกาะกูด สวรรค์บนดิน เป็นมิตร & รักษาสิ่งแวดล้อม : ปาณี ชีวาภาคย์

MBK พาจิตอาสาปทุมวันบุกชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ เรียนรู้ "ขยะคือทองคำ”

Sustainability Marketing มาตรฐานใหม่ในโลกธุรกิจ : ฐิติภา ลักษณพิสุทธิ์