อยากเป็นเชฟ Okura จัดให้ !จุดเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ : ปาณี ชีวาภาคย์




บริษัทขนาดใหญ่เมื่อดำเนินกิจการมาครบรอบปีมักเฉลิมฉลองด้วยการจัดงานเลี้ยงแสดงความยินดีและขอบคุณลูกค้า หรือจัดกิจกรรมการตลาดเพื่อหวังผลทางด้านยอดขาย

แต่สำหรับโรงแรม ดิ โอกุระ เพรสทีจ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นโรงแรมที่บริหารโดยเชนโอกุระ โฮเทลส์ แอนด์ รีสอร์ทส์ จากญี่ปุ่น โดยมีเจ้าของโรงแรมเป็นคนไทยนั้น เปิดดำเนินกิจการที่เมืองไทยครบรอบ 5 ปี สำหรับปีนี้ ผู้บริหารเลือกที่จะนำงบประมาณสำหรับจัดเลี้ยงนั้นมาทำโครงการดีๆ “5 ปีแห่งความสำเร็จ 5 เดือนของการแบ่งปัน” เพื่อแบ่งปันความสำเร็จสู่สังคมในมิติต่าง ๆ เป็นเวลา 5 เดือนติดต่อกัน เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา

ไฮไลต์หลักคือ กิจกรรมการแข่งขันทำอาหารเพื่อชิงรางวัลเป็นทุนเดินทางไปศึกษาดูงานที่โรงแรม โฮเทล โอกุระ อัมสเตอร์ดัม (Hotel Okura Amsterdam) เป็นเวลา 9 วัน

คำถามคือ ...ทำไมต้องเฟ้นหาเชฟญี่ปุ่น?....
คงเพราะโรงแรมแห่งนี้เป็นเชนจากญี่ปุ่น ประกอบกับมีทางโรงแรมมีห้องอาหารมาซาโตะ ซึ่งขายดีมาก เพราะมีเชฟชิเงรุ ฮางิวาระ ที่เชี่ยวชาญด้านอาหารไคเซกิ ซึ่งเป็นอาหารชาววังของญี่ปุ่น ผู้บริหารโรงแรมจึงเห็นความสำคัญของอาชีพเชฟอาหารญี่ปุ่น

หลังจากเปิดรับสมัครไปตั้งแต่เดือนมีนาคม ปรากฏว่ามีนิสิต นักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในสาขาวิชาการโรงแรม งานครัวและ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวจากหลายสถาบัน ให้ความสนใจยื่นใบสมัครเข้าร่วมแข่งขันเป็นจำนวนมาก โดยผู้สมัครได้โพสต์คลิป วีดีโอ แสดงการทำอาหารในเฟสบุ๊คของตนเอง และส่งคลิป วีดีโอ นั้นมาให้คณะกรรมการคัดเลือก จนได้มา 10 คน และหลังจากผ่านการสัมภาษณ์แบบตัวต่อตัวกับเชฟ แอนโทนี ชอลท์ไมเยอร์ (Antony Scholtmeyer) หัวหน้าพ่อครัวใหญ่ (Executive Chef ) ประจำโรงแรมฯ

ในที่สุดก็ได้ผู้สมัครเหลือ 5 คน ที่ผ่านเข้ารอบสุดท้าย เพื่อเข้าไปฝึกงานในครัวญี่ปุ่น โดยผู้เข้าแข่งขันทั้ง 5 จะต้องจับฉลากตัวอักษร ‘O K U R A’ ซึ่งถือเป็นตัวอักษรประจำตัวตลอดการแข่งขัน คือ


ตัวอักษร O (โอ) เป็นตัวอักษรประจำตัวของ นางสาวสามิณี สุขจันทร์
ตัวอักษร K (เค) เป็นตัวอักษรประจำตัวของ นางสาวอรทัย กิตติสิทโธ
ตัวอักษร U (ยู) เป็นตัวอักษรประจำตัวของ นางสาวพิชชากร รามบุตร
ตัวอักษร R (ฮาร์) เป็นตัวอักษรประจำตัวของ นางสาวพิมพ์ลภัส ตันติศรีสุข
ตัวอักษร A (เอ) เป็นตัวอักษรประจำตัวของ นายธาดา เอกประทุมชัย




แค่นี้ก็ถือเป็นประสบการณ์สุดล้ำแล้วสำหรับผู้เข้าแข่งขัน เพราะได้มีโอกาสฝึกกับเชฟญี่ปุ่นเก่ง ๆ อย่าง เชฟ ชิเงรุ ฮางิ เป็นเวลา 3 สัปดาห์ โดยผู้เข้าแข่งขันมีโอกาสฝึกงานจริงในครัว ซึ่งแบ่งเป็น 5 แผนก คือ แผนกซูชิและซาชิมิ แผนกทอด แผนกต้มและตุ๋น แผนกย่าง และแผนกเทปันยากิ โดยทุกคนต้องฝึกวน ๆ ไปตามแต่ละแผนกเป็นเวลา 3 วันกับพ่อครัวมืออาชีพที่มีความเชี่ยวชาญจนครบทุกแผนก



นอกจากนั้น ในแต่ละวัน เชฟ ฮางิวาระ ก็ได้นัดหมายกับผู้เข้าแข่งขันเป็นรายบุคคล เพื่อสอนการปรุงอาหารญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิด

ระหว่างการฝึกช่วงนี้ ทางโรงแรมจะเชิญกรรมการภายนอก ซึ่งส่วนมากเป็นเจ้าของคอลัมน์อาหาร และบล็อกเกอร์อาหาร ซึ่งดิฉันในฐานะนักชิมก็ได้รับเชิญมาให้คะแนนด้วย 









ผู้เข้าแข่งขันทั้ง 5 คน ตั้งเป้าหมายที่จะเข้าสู่วงการเชฟเอง เป็นความตั้งใจที่ไม่ได้เกิดจากความฮอตฮิตของซีรีย์เกาหลี หรือการลอกเลียนแบบเน็ดไอดอลในโซเชียล และพร้อมที่จะต่อสู้ดิ้นรนเพื่อไปให้ถึงความฝันให้ได้ โดยการหาประสบการณ์นอกห้องเรียนเป็นหลัก






คลิกชมคลิประหว่างการแข่งขันบางส่วน







ส่วนการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ ผู้เข้าแข่งขันทั้ง 5 คนจะต้องแสดงฝีมือการปรุงอาหารญี่ปุ่น เพื่อให้คณะกรรมการอีกชุดหนึ่งจำนวน 12 คนมาชมในดินเนอร์มื้อพิเศษเพื่อการตัดสิน โดยใช้ปลากระพงแดงญี่ปุ่นมาปรุงเป็นอาหารตามโจทย์ 4 ชนิด ได้แก่ ซูชิ ซาชิมิ อาหารต้ม-ตุ๋น และอาหารจากความคิดสร้างสรรค์ของตนเอง  โดยมีหลักเกณฑ์การให้คะแนนจากรูปลักษณ์ (หน้าตา) และรสชาติของอาหาร








ในที่สุด โครงการเฟ้นหาสุดยอดเชฟรายการนี้ก็ได้ผู้ชนะเลิศคือ างสาวพิชชากร รามบุตร จาก วิทยาลัยดุสิตธานีได้รับถ้วยรางวัลเกียรติยศทำมาจากถ้วยสาเกไม้ ตั้งอยู่บนฐานที่ถูกออกแบบให้มีลักษณะเหมือนภูเขาไฟฟูจิ ซึ่งชาวญี่ปุ่นมักจะใช้อ้างอิงถึงความเป็นที่หนึ่ง หรือ ‘Ichi Ban’ (อิจิบัง) จากเชฟ ชิเงรุ ฮางิวาระ



นอกจากนี้ ผู้ชนะยังได้ทุนไปศึกษาดูงาน 9 วันที่โรงแรม โฮเทล โอกุระ อัมสเตอร์ดัม พร้อมตั๋วเครื่องบิน ไป กลับ กรุงเทพฯ - อัมสเตอร์ดัม พร้อมที่พักที่ โรงแรม โฮเทล โอกุระ อัมสเตอร์ดัม 8 คืน มื้ออาหารกลางวันสุดพิเศษที่ห้องอาหารยามาซาโตะ 1 มื้อ และที่สำคัญคือโปรแกรมการเรียนรู้การทำอาหารในครัวกับเชฟโอะโนะ ค็อกไมเยอร์ (Chef Onno Kokmeijer) เชฟชื่อดังจากห้องอาหารซีเอลเบลอ ซึ่งได้ 2 ดาวมิชลิน รวมมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 100,000 บาท 

นับเป็นรางวัลและประสบการณ์อันล้ำค่า สำหรับคนรุ่นใหม่ที่ใฝ่ฝันจะเป็นเชฟ จะได้มีโอกาสเรียนรู้จากเชฟมิชลิน



ก็ขอแสดงความยินดีกับน้องป๊อบ- น.ส.พิชชากร รามบุตร และผู้เข้าร่วมแข่งขันทุกคนค่ะ รวมถึงโรงแรม ดิ โอกุระ เพรสทีจ กรุงเทพฯ ที่ช่วยสร้างกิจกรรมเล็ก ๆ แต่ยิ่งใหญ่และมีคุณค่าสำหรับเด็กอนาคตเชฟเหล่านี้ 




ก็อย่างที่ดิฉันกล่าวไว้ในตอนเริ่มต้นว่า งบประมาณแสนกว่าบาทถ้านำมาเลี้ยงจัดงานเลี้ยงฉลองก็ได้แค่อิ่มไปหนึ่งมื้อเท่านั้น แต่ถ้านำเงินก้อนนี้มา “สร้างโอกาสให้กับคนในสังคม”  เงินก้อนนี้ยิ่งใหญ่มากค่ะ !

.............................................................

ปาณี ชีวาภาคย์ นักเขียน นักชิมอาหาร
ปัจจุบันกรรมการตัดสินรายการทรูชวนชิมกับเชลล์
อดีตกรรมการตัดสินรายการเชฟกระทะเหล็ก


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Soneva Kiri เกาะกูด สวรรค์บนดิน เป็นมิตร & รักษาสิ่งแวดล้อม : ปาณี ชีวาภาคย์

MBK พาจิตอาสาปทุมวันบุกชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ เรียนรู้ "ขยะคือทองคำ”

Sustainability Marketing มาตรฐานใหม่ในโลกธุรกิจ : ฐิติภา ลักษณพิสุทธิ์