ตาม S&P ไปเปิดร้านVanilla เซี่ยงไฮ้ เจาะกลุ่ม Young Trend : Special Report ปาณี ชีวาภาคย์



มหานครเซี่ยงไฮ้ มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เท่ากับประเทศไทย  และตอนนี้เริ่มมีคนไทยแห่เข้าไปลงทุนมากขึ้น อยากจะค้าขายกับคนเซี่ยงไฮ้ ต้องอ่านกรณีศึกษาของกลุ่ม S&P ที่เข้าไปเปิดร้านอาหารไทยชื่อVanilla แค่ 2 เดือนยอดขายทะลุวันละ 5 แสนบาท


เมื่อเร็ว ๆ นี้ กลุ่ม S&P นำโดย มณีสุดา ศิลาอ่อน  ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) ได้นำผู้สื่อข่าวบินลัดฟ้าสู่มหานครเซี่ยงไฮ้ โดยมีภารกิจพิเศษคือ เข้าชมกิจการร้านอาหาร Vanilla พร้อมชิมอาหารซิกเนอเจอร์เลิศรส และพบปะพูดคุยกับผู้บริหาร ผู้ร่วมทุน ณ ร้าน Vanilla สาขา Rockbund มหานครเซี่ยงไฮ้ 

“มหานครเซี่ยงไฮ้” เมืองเศรษฐกิจอันดันต้นๆ ของประเทศจีนที่ปัจจุบันเป็นเป้าหมายการลงทุนของคนไทยที่เริ่มมีหลายกลุ่มธุรกิจทยอยเข้าไปบุกเบิก  รวมถึง “S&P” กลุ่มธุรกิจร้านอาหารและเบเกอรี่ชั้นนำของเมืองไทยก็เข้าไปปักธงบุกเบิกอย่างจริงจังและประสบความสำเร็จ  ถือเป็นกรณีศึกษาสำหรับคนไทยที่คิดจะเข้าไปทำธุรกิจกับมหานครใหญ่แห่งนี้

ถ้าพูดถึงธุรกิจร้านอาหารแล้ว  กลุ่ม S&P น่าจะเป็นคนไทยกลุ่มแรก ๆ ที่เข้าไปบุกเบิกที่ประเทศจีน โดย เกษสุดา ไรวา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของเครือ เอส แอนด์ พี กล่าวถึงการเข้าไปลงทุนว่า
 
“ เราเข้าไปลงทุนที่ประเทศจีนเมื่อ 6 ปีที่แล้ว  โดยไปเปิดร้านอาหารภัทราร้านแรกที่ปักกิ่ง เป็นทรอปปิคอลไทยสไตล์ ซึ่งมีนักธุรกิจไปทานเป็นจำนวนมาก ทำให้มองเห็นศักยภาพของที่นี่”


เกษสุดา วิเคราะห์ถึงธุรกิจร้านอาหารไทยในประเทศจีนเพิ่มเติมว่า  คนจีนชอบรับประทานอาหารไทย  แต่ร้านอาหารไทยส่วนมากกลับมีเจ้าของเป็นคนต่างชาติว่า สมัยก่อนถ้าไปประเทศจีนจะรู้จักร้าน Banana Leaf  ซึ่งเจ้าของเป็นคนจีนที่มาทำร้านอาหารไทย และมีสาขากว่า 30 แห่ง  แต่อย่างไรก็ตามก็ยังเป็นอาหารไทยในแบบจีน ๆ

"จากการที่ S&P ได้ไปลงทุนเปิดร้านอาหารในต่างประเทศหลายแห่งและประสบความสำเร็จอย่างดี  จึงมองเห็นช่องว่างที่จะเข้าไปบุกธุรกิจร้านอาหารที่เซี่ยงไฮ้  ประกอบกับมีโอกาสรู้จักและจับคู่ทางธุรกิจกับกลุ่มที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องธุรกิจร้านอาหาร

“หลังจากที่ตระเวนดูโลเคชั่นหลายแห่ง  เรามาเจอคุณวิศิษฎ์ ลิ้มประนะ บริษัทง่วนสุน ที่ส่งออกวัตถุดิบจากเมืองไทยไปที่เซี่ยงไฮ้ และได้แนะนำให้เรารู้จักกลุ่มกลุ่มต้าชี่ ซึ่งเป็นกลุ่มนักธุรกิจหนุ่มที่เชี่ยวชาญในการทำร้านอาหาร”

ในที่สุดจึงตั้งบริษัทเพื่อทำการ Joint Venture  โดยกลุ่ม S&P กับบริษัทง่วนสุน  ผู้ผลิตและส่งออกเครื่องเทศ เครื่องแกงสำเร็จรูป ในเครือง่วนสูนภายใต้แบรนด์ “พริกไทยตรามือ” บุกเบิกธุรกิจอาหารที่เซี่ยงไฮ้มาก่อน  ถือหุ้นร่วมกัน 60 % และ กลุ่มต้าชี่ ถือหุ้น 40 %

เกษสุดายอมรับว่าการได้พาร์ทเนอร์คนท้องถิ่นที่เก่ง และเชี่ยวชาญด้านร้านอาหารจะช่วยในเรื่องข้อกฏหมาย และการวิเคราะห์ตลาดได้แม่นยำกว่าที่จะไปลงทุนเองตามลำพัง

“ เรามาเจอคู่ค้ากลุ่มนี้เมื่อปี 2558 ก็บินไปดูธุรกิจร้านอาหารของเขาก่อน  จากนั้นเขาก็บินมาเมืองไทยเพื่อดูกิจการของเรา สุดท้ายเขาชอบคอนเซ็ปท์ของร้าน Vanilla  เพราะคิดว่าเหมาะกับไลฟ์สไตล์ของคนเซี่ยงไฮ้ที่เป็น Young Trend “

ปี 2559 จึงเริ่มเปิดร้าน Vanilla สาขาแรกที่ Sky Mall แถบชานเมืองเซี่ยงไฮ้ และล่าสุด 14 มิถุนายน ที่ผ่านมา มีการจัดงานแกรนด์ โอเพ่นนิ่ง ร้าน Vanilla สาขา Rockbund   สาขาที่ 2 ใจกลางเมืองเซี่ยงไฮ้  ซึ่งเกษสุดาเล่าถึงความแตกต่างของสาขาใหม่ว่า

“ ทางพาร์ทเนอร์แนะนำว่าธุรกิจร้านอาหารที่เซี่ยงไฮ้ถ้าทำอะไรนิ่งไปคนจะไม่ตื่นเต้น  ดังนั้นร้าน Vanilla สาขาใหม่ จะต้องดูแตกต่างจากสาขาแรก  และต้องเป็น Fine Dining เพราะทำเลอยู่กลางเมือง”

อาคารสถาปัตยกรรมยุโรปเก่าแก่ย่าน Tha Bund

โลเกชั่น ร้าน Vanilla สาขาใหม่ จึงไม่ธรรมดา เพราะตั้งอยู่เขตเมืองเก่าที่รู้จักกันทั่วโลกในนาม The Bund  ซึ่งมีอาคารสถาปัตยกรรมยุโรปที่สวยงาม รวมถึงเป็นย่านศูนย์กลางการเงิน   โดยใช้พื้นที่ชั้นล่างของอาคารเก่าอายุ 95 ปีซึ่งเคยเป็นที่ทำการของธนาคารมาก่อน  แต่ถูกปิดมานานกว่า 5 ปี  นำมาตกแต่งใหม่    โดยใช้ดีไซนเนอร์ฝีมือดีชาวญี่ปุ่นมาออกแบบตกแต่งภายในในคอนเซปต์  Nothing Perfect สื่อถึงความเชื่อที่ว่า โลกนี้ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ   ดังนั้นการตกแต่งทุกอย่างภายในร้าน จึงแฝงไว้ด้วยปรัชญาที่ดูเหมือนขาดหายไป ซึ่งจะสะท้อนออกมาจากสิ่งของที่โชว์อยู่ภายในในตู้กระจกทั้ง 5 แห่งที่ให้ลูกค้าตีความหมายกันเอาเอง




แต่ในความไม่สมบูรณ์แบบนั้น กลับแฝงรายละเอียดทุกขั้นตอนที่ดีไซเนอร์ให้ความใส่ใจและสรรหามาตกแต่ง  ไม่ว่าจะเป็นถ้วยชามที่ต้องมีลักษณะสอดคล้องกับเมนู ภายใต้การออกแบบ Food Stylist ของดีไซเนอร์ชาวญี่ปุ่น และรสชาติของอาหารที่รังสรรค์โดยเชฟคนไทย คือเชฟหนุ่ม ธนินทร จันทรวรรณ   จึงกลายมาเป็นอาหารไทย ที่จัดวางองค์ประกอบในรูปแบบอาร์ต มีกลิ่นอายความเป็นไทยร่วมสมัยได้อย่างลงตัว  ส่วนอาหารยอดนิยมของร้านVanilla ที่ลูกค้ามาแล้วต้องสั่งมาลิ้มลอง อาทิ กุ้งโสร่ง  Lost Menu
 



“ คนเซี่ยงไฮ้ที่มาเป็นลูกค้าเรามี 2 ประเภทคือ คนรวยและคนที่มีเทสต์มีความรู้เรื่องอาหารอย่างดี เพราะร้านนี้ราคาค่อนข้างสูงกว่าร้านแรก ดังนั้นอาหารที่จะทำให้คนเซี่ยงไฮ้ประทับใจ ต้องอร่อยถูกปากรวมทั้งร้านต้องเก๋ไก๋ถูกใจด้วย” เกษสุดากล่าว

หลังจาก ร้าน Vanilla สาขา Rockbund  เปิดให้บริการมาได้ เพียงแค่ 2 เดือนก็ได้รับการโหวตจากลูกค้าชาวจีนที่โหวตผ่าน “ต้าจง เตี้ยนผิง” แอปพลิเคชั่นด้านอาหารยอดฮิตที่สุดของประเทศจีน ให้ ร้าน Vanilla สาขา Rockbund  เป็นร้านอาหารยอดฮิตอันดับหนึ่ง  และอาหารรสชาติดีเป็นอันดับ 9 เรื่องยอดขายที่เป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของธุรกิจร้านอาหารนั้น  เกษสุดาเปิดเผยว่าร้าน Vanilla สาขา Rockbund  เคยทำยอดขายสูงสุดคือ 9 หมื่นหยวน ( 450,000 บาท) มาแล้ว

ข้อมูลการลงทุนในเซี่ยงไฮ้

ดร. ไพจิตร วิบูลย์ธนสาร เลขาธิการหอการค้าไทยในจีน  องค์กรไม่แสวงหากำไร ได้รับการรับรองจากรัฐบาลไทยและจีน ทำหน้าที่ให้คำแนะนำและให้ข้อมูลการลงทุนแก่สมาชิกที่จะมาลงทุนในเซี่ยงไฮ้และประเทศจีน ให้ข้อมูลของเซี่ยงไฮ้เพิ่มเติมว่า

ที่มา: หอการค้าไทยในจีน

ปัจจุบันเซี่ยงไฮ้มีประชากร 25 ล้าน มีรายได้เฉลี่ยต่อคนปีละ 17,000หมื่นดอลล่าร์สหรัฐ  มีขนาดเศรษฐกิจเท่ากับประเทศไทยทั้งประเทศ ดังนั้นถ้าต้องการทำธุรกิจปับประเทศจีนแล้ว  ควรเริ่มต้นที่เซี่ยงไฮ้แล้วค่อยขยายไปยังเมืองอื่น ๆ  เมื่อ 10 กว่าปีก่อนมีคนไทยเข้ามาลงทุนในเซี่ยงไฮ้เพียง 20 กว่ารายเท่านั้น  ส่วนมากเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่  แต่ปัจจุบันเริ่มมีธุรกิจSME เข้ามาทำธุรกิจที่เซี่ยงไฮ้มากขึ้น  สำหรับประเภทธุรกิจที่น่าสนใจในเซี่ยงไฮ้นั้น ดร.ไพจิตรกล่าวสรุปว่า

 ที่มา: หอการค้าไทยในจีน

“ ที่นี่สามารถทำธุรกิจได้ทุกอย่าง ขอให้แก่งจริงเท่านั้น”


ข้อมูลร้านอาหารในเครือ S&P

กลุ่ม S&P เป็นกลุ่มธุรกิจร้านอาหารและเบเกอรี่ภายใต้เครื่องหมายการค้า “เอส แอนด์ พี” ทีมีร้านอาหารและเบเกอรี่ที่ดำเนินการอยู่ภายในประเทศรวมทั้งสิ้น 466 สาขา ภายใต้การดำเนินงาน 9 แบรนด์ด้วยกัน

นอกจากการดำเนินธุรกิจภายในประเทศแล้ว  กลุ่ม S&P ยังขยายธุรกิจร้านอาหารไทยไปยังต่างประเทศอีกด้วย โดยปัจจุบันมีร้านอาหารไทยตั้งอยู่ใน 6 ประเทศ ทั่วโลก คือ อังกฤษ สวิสเซอร์แลนด์ ออสเตรีย สิงคโปร์ จีน และกัมพูชา รวมทั้งสิ้น 23 สาขา ภายใต้แบรนด์ที่หลากหลายทั้ง Patara, SUDA, Siam Kitchen, Bangkok Jam รวมไปถึงแบรนด์ เอส แอนด์ พี เองด้วย

สำหรับแบรนด์ Vanilla นั้น  ผู้สร้างแบรนด์นี้คือ วิสาขา ไรวา ทายาทรุ่นที่ 2  ที่ต้องการให้ร้านมีบุคลิกแตกต่างจากร้านอื่น ๆ ในกลุ่ม เพื่อจับกลุ่มลูกค้าระดับบน เน้นความโดดเด่นด้านดีไซน์ที่มีเอกลักษณ์ร่วมสมัย ปัจจุบันร้าน Vanilla มีสาขาทั้งสิ้น 5 แห่ง 






ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Soneva Kiri เกาะกูด สวรรค์บนดิน เป็นมิตร & รักษาสิ่งแวดล้อม : ปาณี ชีวาภาคย์

MBK พาจิตอาสาปทุมวันบุกชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ เรียนรู้ "ขยะคือทองคำ”

Sustainability Marketing มาตรฐานใหม่ในโลกธุรกิจ : ฐิติภา ลักษณพิสุทธิ์