SACICTสร้าง "ทายาท" สานต่องานอนุรักษ์หัตถกรรมให้ยั่งยืน



“ เราทำหน้าที่อนุรักษ์งานศิลป์ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ” 

อัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์กรมหาชน) หรือ SACICT (ศักดิ์สิทธิ์) กล่าวกับผู้สื่อข่าวระหว่างการพาสื่อมวลชนไปทริป “ อนุรักษ์งานศิลป์หัตถกรรมไทยในเมืองศรีสัชนาลัย”  ณ สุโขทัย เพื่อดูงานอนุรักษ์งานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ ตลอดจนกระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้และต่อยอดทางความคิด รวมทั้งสร้างสรรค์คุณค่าชิ้นงานสืบต่อไป

อัมพวัน พิชาลัย ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ

โดยอัมพวันขยายความถึงคำว่า “อนุรักษ์”  เป็นเรื่องเชิดชูครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่าง  ซึ่งศักดิ์สิทธิ์ทำหน้าที่เข้าไปเป็นหนึ่งในข้อห่วงโซ่เพื่อช่วยสืบสานงานช่างจากมือสู่มือ  จากคนรุ่นเก่าสู่คนรุ่นใหม่ซึ่งเรียกว่า “ทายาท”  ให้มีพัฒนาการ  เมื่อครูหรือคนรุ่นเก่าส่งงานผ่านไปยังคนรุ่นใหม่แล้ว  ศักดิ์สิทธิ์ยังมีหน้าที่ช่วยผลักดันการต่อยอดงานศิลป์หัตถกรรม  โดยใช้ทายาทเป็น “เครื่องมือ” สร้างงานให้มีการพัฒนารูปแบบ ช่วยทำการตลาดเพื่อให้งานหัตถศิลป์สามารถเลี้ยงครอบครัวได้   นั่นจึงเป็นภาระกิจสำคัญของศักดิ์สิทธิ์ที่ทำงานอนุรักษ์แบบครบวงจจริง ๆ



จะเห็นได้ว่า “ ทายาท” กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการสืบสานงานศิลปหัตถกรรมของปัจจุบัน
         
 “แต่ขณะนี้ปัญหาใหญ่คือทายาทไม่ค่อยกลับเข้ามาเพื่อสืบสานงานของพ่อแม่ที่ทำไว้  เราอยากให้พวกเขากลับมาสืบสานงานศิลป์ของที่บ้าน  นอกจากช่วยส่งต่องานมือจากรุ่นสู่รุ่นแล้ว  เราอยากให้พวกนี้กลับมาทำงานที่บ้านเพื่อให้ครอบครัวอบอุ่น เป็นการพัฒนาคนในพื้นที่เพื่อให้มีรายได้ที่ดี”


และนี่คือ 3 ทายาทตัวอย่างในการอุทิศตนเพื่อเข้ามาสานต่องานช่างสืบต่อจากพ่อแม่

**บ้านทองสมสมัย**


ปราโมทย์ เขาเหิน

ปราโมทย์ เขาเหิน ลูกชายของ ครูสมสมัย เขาเหิน ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี2553 ผู้ค้นพบ “เส้นถักสำริดโบราณ”  เขาเล่าว่าเห็นพ่อและแม่ทำทองมาตั้งแต่เกิด  ทำให้เขาได้ซึมซับงานช่างทองไปด้วย  หลังจากปราโมทย์ศึกษาจบปริญญาตรีสาขาบริหารธุรกิจ ที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต ในกรุงเทพฯ  เขาก็เดินทางกลับสู่ถิ่นฐานบ้านเกิดศรีสัชนาลัย  เพื่อสืบสานงานของครอบครัวที่ร้านบ้านทองสมสมัย  จนได้รับยกย่องให้เป็นทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2556

ที่ร้านทองสมสมัยนับว่าเป็นโรงงานขนาดใหญ่ที่มีช่างทองอยู่ถึง 50 คน และเป็นแหล่งต้นแบบผลิตช่างทองสุโขทัยออกไปเปิดร้านทองหลายแห่งในย่านศรีสัชนาลัย   หน้าที่ของปราโมทย์คือนำความรู้ที่ได้จากรั้วมหาวิทยาลัยมาต่อยอดงานของครอบครัวด้วยการเข้าไปปรับระบบการจัดการภายในโรงงานให้ทำงานได้รวดเร็วขึ้น รวมทั้งงานออกแบบงานทองสุโขทัยให้มีความหลากหลายต่อยอดจากรุ่นพ่อแม่
เส้นทางการเป็นช่างทองสุโขทัยนั้นกว่าจะฝึกฝนจนสามารถทำลวดลายต่าง ๆ ได้ต้องใช้เวลานานถึง 5-10 ปี  ดังนั้นคนรุ่นใหม่จึงไม่ค่อยสนใจจะมาทำอาชีพนี้  จึงทำให้วงการทองสุโขทัยขาดแคลนแรงงานช่างฝีมือมาก



คนรุ่นใหม่อย่างปราโมทย์ซึ่งเข้าใจปัญหานี้ดี  เขาจึงพยายามสร้าง “ช่างทอง” รุ่นใหม่ขึ้นมา  โดยขณะนี้กำลังทำหลักสูตรเทคนิคการทำทองสุโขทัย ร่วมกับวิทยาลัยการอาชีพศรีสัชนาลัย เป็นหลักสูตร 2 ปี โดยเรียนทฤษฏีที่วิทยาลัย และเน้นเรียนภาคปฏิบัติที่ร้านทองสมสมัยโดยปราโมทย์จะเป็นครูสอนเอง


“ ผมต้องการอนุรักษ์งานช่างทอง  ดังนั้นจึงต้องพัฒนาช่างทองให้เป็นอาชีพที่มีรายได้เลี้ยงครอบครัวได้ และมีความภูมิใจในงานที่เขาสร้าง  ดังนั้นสิ่งสำคัญคือต้องสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์งานศิลปะช่างทองสุโขทัยเพื่อให้งานเหล่านี้ยังคงอยู่คู่กับคนสุโขทัยตลอดไป”


ช่างกำลังทำงานยอดฉัตรประดับทอง ซึ่งเป็นงานพุทธศิลป์

ดังนั้นร้านทองสมสมัยนอกจากจะจำหน่ายทองลวดลายสุโขทัยแล้ว  ยังรับทำงานพุทธศิลป์ หรืองานศิลป์ที่รับใช้พระพุทธศาสนาซึ่งจะต้องใช้ช่างทองฝีมือที่ประณีตมากขึ้น  และชิ้นงานเหล่านี้เมื่อทำเสร็จจะกลายเป็นผลงานที่ผู้คนต้องกราบไหว้  จึงกลายเป็นความภาคภูมิใจของช่างที่ได้รับรู้ว่างานของตนเองมี

**ร้านขวัญเงิน**


ร้านขวัญเงินเป็นร้านทำเครื่องเงินสุโขทัยที่ใช้ลายทองสุโขทัยเป็นแม่แบบ   โดยมีข้าวฟ่าง - ณัฐวุฒิ พลเหิร ทายาทรุ่นที่ 2 ของ ครูขวัญ พลเหิม ครูช่างศิลปหัตถกรรม   ปี 2555 เป็นผู้ดูแลร้านสืบต่อจากพ่อและแม่ซึ่งเคยเป็นช่างทองฝึกทำทองสุโขทัยมาก่อนที่จะมาเปิดร้านเป็นของตัวเองเมื่อ 35 ปีก่อน   แต่ด้วยทุนน้อยไม่สามารถเปิดเป็นร้านทองได้ จึงหันมาเปิดเป็นร้านทำเงินลายทองสุโขทัย99.99% รายแรกของที่นี่ จนถึงปัจจุบั

ณัฐวุฒิ พลเหิร
ข้าวฟ่างคุ้นชินกับงานทำเงินมาตั้งแต่เด็ก  แต่มาสนใจงานลายทองสุโขทันอย่างจริงจังเมื่อเรียนจบปริญญาตรีและตั้งใจจะเข้ามาสืบสานงานช่างเงินต่อจากพ่อแม่

“เห็นพ่อแม่ทำมาตั้งแต่เด็ก  งานสวยดี  เลยขอลองฝึกทำดู ซึ่งยากมาก คิดว่าเราคงทำไม่ได้ แม่ให้กำลังใจอยู่เรื่อย จนมีประสบการณ์มากขึ้น  เลยมาออกแบบด้วย ผมรักการทำเครื่องเงินเพราะผมฝึกอยู่กับมันจึงรู้ว่ากว่าจะออกมาเป็นชิ้นงานของตัวเองต้องใช้ความอดทนสูงมาก”

กำไรเงินที่ทำเห็นลวดลายเครือวัลย์ฉลุ

เครื่องเงินที่เป็นจุดเด่นของนี้คือลวดลายเครือวัลย์ฉลุ  ซึ่งกลายเป็นเอกลักษณ์อันโดเด่นของร้านนี้ โดยข้าวฟ่าง-ณัฐวุฒิจะเป็นคนออกแบบร่วมกับคุณแม่ของเขา  ซึ่งกว่าจะได้เครื่องประดับที่เป็นลายฉลุเครือวัลย์นี้  จะต้องฝึกช่างให้หัดฉลุลายกว่า 10 ปีจึงจะมีความชำนาญสามารถทำชิ้นงานของตัวเอง ได้ค่าจ้างที่ดีขึ้น   ส่วนค่าจ้างวันละช่าง 300 บาท บางคนเป็นช่างฝีมือดีวันละ 500บาท

“ผมไม่อยากให้งานแบบนี้สูญหายไป  อย่างน้อยก็มีผมอยู่คนหนึ่งที่ตั้งใจจะสืบสาน ทุกวันนี้ผมจะเก็บงานลายเก่า ๆ เอาไว้ เผื่อว่ามีเยาวชนคนรุ่นใหม่อยากจะเรียนรู้  ผมจะได้สอนพวกเขา”
ปัจจุบันข้าวฟ่าง – ณัฐวุฒิ ได้รับการเชิดชูให้เป็นทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2558




**บ้านสุนทรีผ้าไทย**


ครูสุนทรี วิชิตนาค


ครูสุนทรี วิชิตนาค ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี 2554 ปัจจุบันอายุ 80 กว่าปีแล้ว  แต่ยังคล่องแคล่วเล่าว่าครอบครัวเป็นชาวไทยพวนที่อพยพมาจากเชียงขวาง  และอาศัยงานทอผ้าเลี้ยงชีพติดต่อกันมาถึง 5 รุ่นแล้ว เมื่อสมัยก่อนชาวบ้านย่านนี้ทุกครัวเรือนจะทอผ้าตีนจกกันใต้ถุนบ้าน

เมื่อประมาณปี 2520  ครูสุนทรีจึงรวมกลุ่มแม่บ้านจัดตั้งศูนย์สาธิตการทอผ้าพื้นเมืองหาดเสี้ยวขึ้นมา  โดยใช้ภูมิปัญญาของชาวไทยพวนทำผ้าตีนจกซึ่งใช้ขนเม่นในการจกลายด้วยมือ  ผ้าแต่ละผืนจะต้องใช้เวลาในการทอนานมากกว่าจะเสร็จ   เป็นเอกลักษณ์ของชาวไทยพวนที่ทำให้เรามีชื่อเสียงสามารถใช้ภูมิปัญญาเลี้ยงครอบครัวมาได้

จากซ้าย ครูรวิวรรณ ครูสุนทรีและผอ.อัมพวัน

ส่วนครูมืด-รวิวรรณ ซึ่งเป็นลูกสาวของครูสุนทรี เพิ่งจะเข้ามาสานต่องานทอผ้าของแม่เมื่อไม่นานมานี้เอง “มืดไม่ได้ทำงานกับแม่มาตั้งแต่แรก  เพราะออกไปทำงานที่กรุงเทพฯมาก่อน แต่วันหนึ่งเราก็มาคิดว่าถ้าเรากลับมาตอนแม่ไม่อยู่แล้ว  เราจะไปสานต่องานเหล่านี้ได้อย่างไร”

นั่นจึงทำให้ครูมืดกลับมาสานต่องานของครูสุนทรี ในแบบของทายาทรุ่นใหม่ที่พยายามพัฒนางานทอผ้าตีนจกด้วยการนำเทคนิคสมัยใหม่มาประยุกต์ให้งานทอผ้ารวดเร็วขึ้น ง่ายขึ้น  สามารถทำลายใหม่ ๆ ได้มากขึ้น เพื่อให้คนรุ่นช่างทอรุ่นใหม่สามารถมาสืบสานงานทอผ้าตีนจกได้  รวมถึงหาช่องทางการตลาดใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น


“เมื่อก่อนย้อนไป 10 ปี ชุมชนเราก็มีการแข่งขันในเรื่องราคา รูปแบบของลวดลายเหมือน ๆ กัน  เราจึงมาคิดว่าทำอย่างไรจะให้เราสามารถทำลายแตกต่างจากที่อื่น ๆ และยืนอยู่ได้ด้วยกลุ่มของเราเอง  แม่และทางกลุ่มจึงมาคิดมาตรฐานของผ้าทอว่า  ผ้าทอผืนหนึ่งจะต้องมีน้ำหนักเท่าใด ทอเนื้อแน่นเท่าใด รวมทั้งสีและลายมีการกำหนดในการออกแบบ  นั่นจึงเป็นที่มาของการใช้แบรนด์สุนทรี   เพื่อสร้างการแข่งขันเรืองการทอผ้า  จนแม่ได้รับเกียรติให้เป็นครูภูมิปัญญาของสภาการศึกษา  และเป็นครูสิลป์ของแผ่นดินปี กลายเป็นแรงกระตุ้นให้เราต้องทำงานต่อไปเพื่อแผ่นดิน เพื่อสืบสานงานช่างให้กับแผ่นดิน”
อีกหนึ่งภาระกิจในฐานะทายาทของบ้านสุนทรีผ้าไทยคือการหาช่างทอผ้าตีนจกเพื่อมาสืบสานงานต่อไปในอนาคต  ซึ่งครูมืดยอมรับว่าเป็นงานยากและท้าทายมาก





“ตอนนี้มีแต่คนอายุ 30 กว่าปีทั้งนั้นที่มาทำงานกับเรา  ไม่มีคนรุ่นใหม่เลย  จึงกลายเป็นโจทย์ว่าทำอย่างไรให้คนรุ่นใหม่ได้เห็นคุณค่าของผ้าทอตีนจก  เพื่อให้มรดกทางศิลปะนี้ยังสืบสานต่อไป “
















ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Soneva Kiri เกาะกูด สวรรค์บนดิน เป็นมิตร & รักษาสิ่งแวดล้อม : ปาณี ชีวาภาคย์

MBK พาจิตอาสาปทุมวันบุกชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ เรียนรู้ "ขยะคือทองคำ”

Sustainability Marketing มาตรฐานใหม่ในโลกธุรกิจ : ฐิติภา ลักษณพิสุทธิ์