MBK พาจิตอาสาปทุมวันบุกชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ เรียนรู้ "ขยะคือทองคำ”


 “ เราไม่รู้ว่าขยะจะมีประโยชน์ถึงขนาดนี้ ”   ศรีจันทร์ แสงหิรัญวัฒนา  หนึ่งในจิตอาสาของชุมชนเขตปทุมวัน กล่าวขึ้นหลังเสร็จจากการอบรมในโครงการพัฒนาศักยภาพผู้นำชุมชนและกลุ่มซาเล้ง ณ แหล่งเรียนรู้การจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน หรือที่รู้จักกันในชื่อ “ ชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่” 



 “ ชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่” เป็นโครงการที่ เอ็ม บี เค กรุ๊ป ร่วมกับมูลนิธิการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน หรือมูลนิธิ 3R โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ตัวแทนชุมชนนำองค์ความรู้ที่ได้เกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะกลับไปใช้ในชุมชนของตัวเอง

ยุทธพงษ์ วั ฒนะลาภา ( ขวา)  และพีรธร เสนีย์วงศ์ (ซ้าย) 

ในวันนี้พื้นที่ส่วนหนึ่งของ”ชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่” ได้มีโอกาสต้อนรับตัวแทนชุมชนเขตปทุมวัน เพื่อเข้าร่วมอบรมเรียนรู้วิธีการจัดการขยะอย่างถูกวิธีตั้งแต่ต้นทางตามหลักการ 3R  คือ Reduce ลดการก่อให้เกิดขยะ Reuse การใช้ซ้ำ และ Recycle นำกลับมาใช้ใหม่   รวมทั้งลงมือฝึกปฏิบัติการคัดแยกขยะ ศึกษารูปแบบการจัดการขยะ  เช่น ธนาคารขยะรีไซเคิล และร้านศูนย์บาท  พร้อมศึกษาวิถีพอเพียงของชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่  ซึ่งเป็นชุมชนต้นแบบการจัดการขยะและการดำเนินชีวิตตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง

ศิรฐา สุขสว่าง ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการสายการตลาด บริษัท เอ็ม บี เค จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า  
“ โครงการ REAL RECYCLE เริ่มต้นมาเมื่อปี 2559 โดยได้รับแรงบันดาลใจและต้นแบบมาจากการทำงานของมูลนิธิ 3R  ที่ร่วมกับคนในชุมชนพัฒนาชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ จนเป็นต้นแบบของชุมชนเข้มแข็งที่พึ่งพาตนเองได้จากการบริหารจัดการขยะ และเป็นแหล่งเรียนรู้การจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน โครงการนี้จึงเป็นการถ่ายทอดความรู้จากชุมชนสู่ชุมชน โดยมีเอ็ม บี เค กรุ๊ปและมูลนิธิ 3 R เป็นสื่อกลาง”

ยุทธพงษ์ วั ฒนะลาภา

ยุทธพงษ์ วัฒนะลาภา กรรมการและเลขาธิการ มูลนิธิการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน( มูลนิธิ3R)  กล่าวว่า “ โครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนและกลุ่มซาเล้งในครั้งนี้ ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดีในการขยายองค์ความรู้แบบวิถีชาวบ้าน ให้ผู้เข้าร่วมได้มีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับหลัก 3R และการน้อมนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในชีวิตประจำวัน ทั้งยังได้เรียนรู้การจัดตั้งร้านศูนย์บาท ได้เข้าใจว่าขยะคือเงินที่สามารถช่วยค่าครองชีพของชุมชนผ่านการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงของกลุ่มซาเล้ง”



สำหรับชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่นั้น การได้รับยกย่องให้เป็นต้นแบบแหล่งเรียนรู้การบริหารจัดการขยะแบบบูรณาการนั้น  มีที่มาโดย พีรธร เสนีย์วงศ์ ประธานชุมชนฯ ซึ่งถือเป็น "ซาเล้งต้นแบบ" ที่ประกอบอาชีพซาเล้งซื้อขยะและบุกเบิกชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่มาตั้งแต่เริ่มต้น  เล่าถึงที่มาของโครงการต่าง ๆ ว่า




" ชุมชนเราเมื่อเจอปัญหาก็แก้ไขจนกลายมาเป็นหลากหลายโครงการเพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ในชุมชนเพื่อยกระดับให้ดีขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ  โดยใช้ขยะเป็นตัวขับเคลื่อนดูแลคนทั้งชีวิต” 

 เริ่มจากแต่เดิมพื้นที่อ่อนนุชเป็นแหล่งทิ้งขยะ  พีรธรจึงชวนสมาชิกในชุมชนมาคัดแยกขยะเพื่อนำไปขาย  จึงเกิดกระบวนการคัดแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง เพื่อเปลี่ยนขยะเป็นเงินมาใช้จ่ายในครอบครัว จนกลายเป็น ร้านศูนย์บาท ในรูปแบบสหกรณ์ที่เกิดจากสมาชิกในชุมชนนำเงินมาลงทุนถือหุ้นกัน และชักชวนให้คนในชุนชนนำขยะมาแลกสินค้าอุปโภคบริโภคกลับไปใช้ในครัวเรือน  และยังมีเงินปันผลทุก ๆ 6 เดือนให้แก่สมาชิกถือหุ้นอีกด้วย




 ชีวิตซาเล้งไม่มีสวัสดิการ  ทางชุมชนจึงคิดโครงการขยะในบ้านนำมาประกันชีวิตได้ ด้วยการทำกองทุนสวัสดิการออมวันละ 1 บาท  เพื่อนำไปเป็นสวัสดิการ ทั้งคลอดบุตร ฌาปนกิจสงเคราะห์ สนับสนุนการศึกษา เป็นต้น   รวมถึงการทำแปลงเกษตรโดยใช้ปุ๋ยหมัก จากขยะเปียก และการใช้ขยะรีไซเคิลมาแลกผักสวนครัวปลอดสารพิษ การสร้างห้องสมุดชุมชนด้วยขยะเหลือใช้





ความสำเร็จของชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่  ไม่เพียงแต่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เข้ามาดูงานและศึกษาโครงการในพื้นที่เท่านั้น  ทุกวันนี้ยังมีองค์กรต่างชาติรวมถึงสื่อต่างประเทศให้ความสนใจเข้ามาเผยแพร่กิจกรรมของชุมชนฯออกไปสู่สายตาชาวโลกด้วยในเวลาเดียวกัน


ศรีจันทร์ แสงหิรัญวัฒนา

ป้าศรีจันทร์ แสงหิรัญวัฒนา เป็นจิตอาสาที่เข้าร่วมกิจกรรมกับเอ็ม บี เค กรุ๊ปประจำ ได้กล่าวถึงการมาดูงานครั้งนี้ว่า “ การมาดูงานแยกขยะครั้งนี้จะนำกลับไปสอนคนในชุมชนปทุมวัน  และคิดว่าจะก่อตั้งร้านศูนย์บาทให้ชมรมผู้สูงอายุที่ศูนย์สาธารณะสุข จุฬาฯ”




พีรธร ซาเล้งผู้คร่ำหวอดกับขยะมาตลอดชีวิตกล่าวทิ้งท้ายไว้อย่างน่าสนใจว่า “ ทุกวันนึ้คนทั่วไปมองว่าขยะเป็นปัญหา  แต่ถ้าเข้ามาในชุมชนของเราจะรู้ว่าขยะคือทองคำ” 



ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Soneva Kiri เกาะกูด สวรรค์บนดิน เป็นมิตร & รักษาสิ่งแวดล้อม : ปาณี ชีวาภาคย์

Sustainability Marketing มาตรฐานใหม่ในโลกธุรกิจ : ฐิติภา ลักษณพิสุทธิ์