ขยะจากอาหาร เรื่องของทุกคน !




ภาพเปิดเรื่องจาก www.naturalnews.com จริงๆ แล้ว คนบางกลุ่มอิ่ม กินเหลือทิ้งกลายเป็น “ขยะ”  แต่คนอีกมากหิวโหยไม่มีจะกิน มีข้อมูลหนึ่งบอกว่า ในเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา ราวๆ  40 % ของผู้ที่อยู่ในเมืองได้รับความช่วยเหลือด้านอาหารนั้นเป็น “เด็ก” เพราะความยากจนและผลพลอยได้จากความไม่มั่นคงด้านอาหารกำลังทวีความรุนแรงขึ้นในฟิลาเดลเฟียและเพนซิลเวเนียตามข้อมูลของรัฐบาลกลางและรัฐ เด็กของภูมิภาคได้รับผลกระทบอย่างมาก

วิกฤติขยะจากอาหารทั่วโลก 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตทั่วโลก หรือประมาณ 1.3 ล้านตันต่อปี กลายเป็นขยะ  อาหารเหล่านี้มีมูลค่ารวมกว่า 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐเพียงพอที่จะเป็นอาหารให้ประชากร 3,000 ล้านคน ขยะที่เกิดจากอาหาร ทำให้ขาดความมั่นคงทางอาหาร และสิ้นเปลืองทรัพยากรธรรมชาติ ดิน น้ำ และพลังงาน ที่ใช้เพาะปลูกอาหารโดยไม่จำเป็น สร้างผลกระทบใหญ่หลวงต่อสิ่งแวดล้อม ปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นอันตราย โดยเฉพาะก๊าซมีเธน ที่มีความรุนแรงกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 20 เท่า

ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับปัญหาขยะที่มาจากอาหาร (Food Waste) ของเทสโก้โลตัส ระบุต่อ ประชากรไทย 1 คนจะสร้างขยะต่อวันถึง 1.14  กิโลกรัม  64% ของขยะมูลฝอย มาจากอาหาร


สำหรับมุมมองของเทสโก้ Global เห็นว่า ปัญหาสำคัญของขยะที่เกิดจากอาหาร คือ การไม่เข้าใจตลาด เกิดการสูญเสียระหว่างเส้นทางจากฟาร์มสู่ตลาด เกิดปัญหาแมลงและโรค ขาดเทคโนโลยีการผลิตที่ดี และมีการบริหารจัดการในการบรรจุขนส่งที่ไม่ดีเพียงพอ ในประเทศกำลังพัฒนา ผู้บริโภคส่วนใหญ่จะมีพฤติกรรมการซื้อที่ไม่เหมาะสม  ทำให้เหลืออาหารทิ้งจำนวนมาก รวมถึงการรับประทานอาหารไม่หมดจาน ปัญหาเหล่านี้จึงอยู่ภายใต้กลยุทธ์จากฟาร์มถึงโต๊ะอาหาร (Farm to Fork) เพื่อลดการสูญเสียอาหารตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่แหล่งเพาะปลูก กระบวนการตัดแต่ง บรรจุ ไปจนถึงขนส่งจำหน่าย และบริโภค

กลยุทธ์ดังกล่าว สอดคล้องกับที่ยูเอ็นได้กำหนดเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ข้อที่ 12 ว่าด้วยการสร้างหลักประกันให้มีรูปแบบการบริโภคและผลิตที่ยั่งยืน โดยเทสโก้มีเป้าหมาย 12.3 ว่าด้วยการลดขยะเศษอาหารของโลกลงครึ่งหนึ่งในระดับค้าปลีกและผู้บริโภค และลดการสูญเสียอาหารจากกระบวนการผลิตและห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงการสูญเสียหลังการเก็บเกี่ยว ภายในปี พ.ศ. 2573 กลุ่มเทสโก้ สนับสนุนการบรรลุเป้าหมาย 12.3 นี้ และได้ประกาศเจตนารมณ์ว่าจะไม่ทิ้งอาหารที่ยังรับประทานได้ในธุรกิจค้าปลีกของกลุ่ม เทสโก้ใน



สหราชอาณาจักร เป็นผู้นำร่องโครงการ และได้ประกาศเจตนารมณ์ว่า ภายในปี พ.ศ. 2560 ร้านค้าของเทสโก้ในสหราชอาณาจักรทุกสาขาจะไม่ทิ้งอาหารที่ยังรับประทานได้ โดยบริจาคอาหารที่จำหน่ายไม่หมดให้กับองค์กรการกุศลและกลุ่มชุมชนกว่า 5,000 องค์กรเพื่อนำสินค้าที่บริจาคไปประกอบเป็นอาหารให้กับผู้ยากไร้

ส่วนเทสโก้ โลตัสในไทย เปิดโครงการ "กินได้ ไม่ทิ้งกัน" โดยเป็นผู้ประกอบการค้าปลีกรายแรกในประเทศไทยที่จะบริจาคอาหารสดที่จำหน่ายไม่หมดให้ผู้ยากไร้ทุกวัน เริ่มต้นจากไฮเปอร์มาร์เก็ต 23 สาขาในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ก่อนขยายสู่ทุกสาขาใหญ่ทั่วประเทศในอนาคต


ทั้งนี้  ในประเทศเกาหลีใต้และญี่ปุ่น มีการคิดภาษีอาหารที่ทิ้งขว้าง

ในมุมของประชาชนมองเรื่องขยะจากอาหารว่า สิ่งที่จะต้องเริ่มคิดเรื่องเหล่านี้คือ “ตัวเราเอง” ก่อน ว่ากันว่าตอนรับน้องมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  รุ่นพี่ให้รับประทานอาหารให้หมด โดยเฉพาะข้าว  เพราะสงสารชาวนากว่าจะได้ข้าวแต่ละเม็ด

นอกจากนี้ ในเรื่องของการนำอาหารที่รับประทานไม่หมด มอบให้ผู้ด้อยโอกาสนั้น  เรื่องนี้เคยทำมาแล้วอย่างต่อเนื่อง  ไม่น้อยกว่า 30 ปีแล้วในยุคที่ คุณหญิงณัษฐนนท ทวีสิน อดีตปลัดกรุงเทพมหานคร ยังรับราชการ จะแจ้งต่อเจ้าหน้าที่จัดประชุมให้นำอาหารเที่ยงและอาหารช่วงเบรค ที่ยังไม่ได้ทาน เก็บใส่ถุงให้เทศกิจ นำไปให้ “คนด้อยโอกาส” ในชุมชนละแวกสถานที่ที่จัดงานประชุม เช่นหากประชุมที่โรงแรมปริ๊นซ์พาเลซ ก็นำอาหารเหล่านี้ให้คนด้อยโอกาส ยากจนชุมชนวัดโสมนัส เขตป้อมปราบเป็นต้น  แม้ว่าเบื้องต้นจะถูกหาว่า “งก” เอาของเหล่านี้กลับด้วยก็ตาม แต่เมื่อเวลาผ่านไปจึงเข้าใจว่า เป็นการนำอาหารไปให้คนด้อยโอกาส แทนที่จะทิ้ง

เรื่องแบบนี้จะเกิดขึ้นได้จากตัวเราเอง จากการถูกอบรมจากพ่อแม่ตั้งแต่เด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นยุคสมัยใดก็ตาม ซึ่งมีรายงานว่า นักเรียนในกรุงไทเป กินอิ่ม เหลือทิ้งวันละกว่า 10 ตัน หรือปีละกว่า 2,000 ตัน แตกต่างจากนักเรียนนอกกรุงไทเป อาหารไม่พอ  จึงเป็นที่มาให้กองศึกษาธิการเมืองต่างๆ  ทบทวนการศึกษาของเด็กๆ ที่เริ่มรู้เรื่องคือชั้นประถมศึกษาให้เด็กได้รู้จักคุณค่าของอาหารและทะนุถนอมอาหาร เพราะได้เห็นขั้นตอน ที่มา ความยากลำบากในการผลิตอาหารชนิดต่างๆ

นับเป็นเรื่องที่ดี ที่ภาคเอกชนซึ่งมีนวัตกรรมลดการสูญเสียอาหารตลอดห่วงโซ่อุปทาน  ได้ประกาศเจตนารมรณ์ลดขยะเศษอาหารของโลกลงครึ่งหนึ่งในระดับค้าปลีกและผู้บริโภค และลดการสูญเสียอาหารในกระบวนการ สอดคล้อง SDGs ส่วนอีกด้านเป็นเรื่องของ “คนทุกคน” ที่จะต้องใส่ใจที่จะไม่สร้างขยะจากอาหาร ไม่ว่าจะเป็นมุมใด และต้องเริ่มสอนโดยให้เห็นของจริงตั้งแต่เด็กๆ เพื่อจะได้รู้ว่า โลกใบนี้ต้องร่งวมกันดูแล



Cr.J. D. Heyes,Natural News, thai.rti.org.tw , เทสโก้ โลตัส


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

Soneva Kiri เกาะกูด สวรรค์บนดิน เป็นมิตร & รักษาสิ่งแวดล้อม : ปาณี ชีวาภาคย์

MBK พาจิตอาสาปทุมวันบุกชุมชนอ่อนนุช 14 ไร่ เรียนรู้ "ขยะคือทองคำ”

Sustainability Marketing มาตรฐานใหม่ในโลกธุรกิจ : ฐิติภา ลักษณพิสุทธิ์